บทที่ 2.  ตำนานคาวบอย

คาวบอยที่เรารู้จัก

                คนส่วนใหญ่รู้จักคำว่า คาวบอย จากหนังฮอลลีวูดที่เผยแพร่ไปทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 และโด่งดังเป็นที่นิยมกันมากในช่วง 1960 -1980 และกลายเป็นรูปแบบหนังที่ยังคงผลิตต่อเนื่องของฮอลลีวูด มาจนถึงปัจจุบันนี้ เราจะพบว่ามีหนังคาวบอยสร้างใหม่ประมาณ 2-3  ปีต่อเรื่อง   ซึ่งมีทั้งหนังที่ใหม่จริงๆ และหนังเก่าที่นำมาสร้างใหม่

                จากหนังเหล่านี้ คนทั่วไปจึงรู้จักคาวบอยในรูปลักษณ์ของชายชาตรีใส่หมวกปีกกว้าง ขี่ม้าพกปืน อันเป็นบุคลิกลักษณะที่สง่างามสุดเท่ห์ของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย น้อยคนที่จะไม่ประทับใจภาพลักษณ์ของพวกคาวบอย และยังเป็นเอกลักษณ์ของคนอเมริกันยุคบุกเบิก ที่เข้าไปตั้งรกรากในดินแดนป่าเถื่อนแถบตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อร้อย กว่าปีก่อน

                ถิ่นคาวบอยในประวัติศาสตร์คือภาคตะวันตกของอเมริกา   รัฐเท็กซัส อาริโซนา คาลิฟอร์เนีย แคนซัส  โคโลราโด ดาโกตา ไวโอมิง มอนตานา และรัฐอื่นๆ ดังแสดงอยู่แผนที่สหรัฐอเมริกาที่มีรูปคาวบอยประทับอยู่ใน รูปที่ 1 หนังคาวบอยคลาสสิกส่วนมากจะเน้นเรื่องราวของคนที่มีอาชีพรับจ้างขี่ม้าต้อนวัว  หรือเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ ที่ต้องสู้กับแก๊งโจรผู้ร้าย  นายทุน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ชั่วร้าย หรือบางเรื่อง ก็สู้กับพวกอินเดียนแดง  หนังคาวบอยพวกนี้คือหนังคาวบอยที่แท้จริง ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 ดาราผู้โด่งดังจากหนังพวกนี้ได้แก่ ยีน ออทรี(Gene Autry) รอย โรเจอร์ (Roy Rogers) จอห์น เวย์น, คลิ๊นท์ อีสวูด(ในยุคเริ่มต้นแสดงหนังทีวีซีรี่)

                ระยะต่อมา มีการสร้างหนังจากประวัติมือปืน โจร หรือมือกฎหมายที่เคยมีชีวิตจริงในอดีต  เช่น บุทช์ แคชสิดี้ (Butch Cassidy), บิลลี่ เดอะคิด, เจสสี เจมส์, วายแอทท์ เอิร์ป  หนังพวกนี้เรามักจะเหมาเอาว่าเป็นหนังคาวบอย แต่จริงๆ แล้วน่าจะเรียกว่าหนังเวสเทิร์น(Western) ตามฝรั่งเขามากกว่า เพราะตัวเอกไม่ได้มีอาชีพคาวบอย

               

รูปที่ 1    แผนที่สหรัฐอเมริกา แสดงถิ่นคาวบอยที่มีชื่อเสียง

                ลักษณะพิเศษของคาวบอยในหนังส่วนใหญ่ก็คือ ขี่ม้าเร่ร่อน ชอบกินเหล้า เล่นการพนัน และมักมีเรื่องชกต่อยกันในบาร์ พอหนักเข้าก็ท้ากันออกไปดวลปืนกลางถนน ใครไวใครอยู่ ใครช้า ตาย และชื่นชมกันตรงความเท่ห์ของเครื่องแต่งกาย ความเก่ง ทั้งในการชกต่อย ขี่ม้า ความไวและความแม่นปืนของคาวบอยนี่เอง  ส่วนพวกโจรหรือมือปืนแม้แต่งตัวเหมือนกัน แต่อาชีพคือฆ่า ปล้น เล่นการพนัน และมักเป็นเรื่องสมมุติเสียมาก                อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับหนังคาวบอยที่ผลิตสู่ตลาดตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา สำหรับคนไทยถือได้ว่าได้ดูหนังคาวบอยดีๆ น้อยมาก  มีหนังที่เข้ามาเข้าโรงฉายในไทยไม่น่าจะถึง 10%  ของที่ฉายในอเมริกา หนังคาวบอยที่เข้าโรง หรือหนังกลางแปลง ที่มีชื่อเสียงและผู้เขียนเคยได้ดูตั้งแต่สมัยเด็กๆ และยังจำได้ ได้แก่ เชน(Shane-1953), สายน้ำไม่ไหลกลับ(River of No Return-1954), Rio Bravo, How the West was Won, เจ็ดสิงห์แดนเสือ (The Magnificent Seven), ขุมทองแมกแคนน่า(Mackenna’s Gold), ตะวันเพลิง(Red Sun), Silverado, True Grit, The Shootist, The Searchers, Dances With Wolves, Unforgiven,  The Out Law Josey Walses หนังเหล่านี้บางเรื่องจำชื่อไทยไม่ได้ และบางเรื่องไม่ทราบว่าเข้ามาฉายครั้งที่เท่าใดแล้ว เพราะมาดูข้อมูลตอนนี้ เขาสร้างตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นทารกอยู่ หรือยังไม่เกิดก็มี

                ในยุคหนังคาวบอยอิตาลีโด่งดัง ก็มีหนังมาเข้าโรงฉายในไทยอีกจำนวนหนึ่ง ที่ประทับใจจนพอจำได้ เช่น หนังชุดของ คลิ๊นท์ อีสวูด ได้แก่ A Fistful of Dollars (1964),  For A Few Dollars More, The Good The Bad and The Augly และหนังดังอิตาลีอื่นๆ เช่น Django (1966), อย่าแหย่เสือหลับ(They call me Trinity) ภาค 1 (1970)  และ 2, Once Upon A Time in The West   อีกหลายเรื่องที่จำชื่อไม่ได้แล้ว

                ตอนเป็นเด็กยังเรียนชั้นประถม ผู้เขียนโชคดีอยู่หน่อย ที่บ้านอยู่ติดค่ายทหาร คือกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เชียงใหม่   จำได้ว่าแทบทุกคืนวันอังคาร จะมีหนังกลางแปลงของฝ่ายสวัสดิการทหารมาฉายให้ครอบครัวทหารดู เนื่องจากที่นั่นเป็นค่ายใหม่ รอบๆ ยังเป็นป่าอยู่เลย เขาคงกลัวครอบครัวทหารที่ย้ายมาอยู่ใหม่เหงา จึงมีบริการเช่นนี้อยู่หลายปี ชาวบ้านใกล้เคียงก็เข้าไปดูได้ ผมก็เลยได้ดูหนังฟรีตลอด และในจำนวนนั้น มีหนังคาวบอยคลาสสิกอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เด็กๆ แถวนั้น รู้จักเล่นยิงปืน แบ่งพวกสู้กัน เลียนแบบหนังคาวบอยหรือหนังสงครามตั้งแต่นั้น

 

หนังคาวบอยคลาสสิกที่ประทับใจคนจำนวนมาก เรื่อง เชน (Shane) ซึ่งออกโรงฉายในอเมริกาครั้งแรกปี 1953 เป็นเรื่องเสือปืนไวที่เร่ร่อนไปเจอปัญหาของชาวไร่ชาวนาที่ถูกกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นแย่งที่ดิน เขาจึงเข้าช่วยเหลือ ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า เชน แต่งกายแบบ บั๊กการู(Buckaroo)ไม่ใช่คาวบอยเท็กซัส

                ในยุคที่มีวิดีโอเทปขาย จนก้าวหน้ามาเป็น CD, VCD ดังเช่นทุกวันนี้ มีหนังทั้งดีและยอดแย่ พวกเกรดต่ำต้นทุนถูก เข้ามาขายอีกมากมาย แถมบางเรื่องพากษ์ไทยแบบสุดมั่ว จนเสียรสชาติหนังดีๆ ไปหมด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นเป็นหนังคาวบอยก็มักจะซื้อไม่เลือก แต่ก็พยายามหาพวกเสียงในฟิล์ม ทำให้ได้ดูหนังคาวบอยคลาสสิกดีๆ มากขึ้นไม่น้อย  เช่น หนังที่แสดงโดย จอห์น เวย์น หลายเรื่อง และหนังทีวีซีรี่ดังอย่าง Lonesome Dove, Monte Walsh,  Cold Mountain, Broken Trails นอกจากนี้ ยังมีหนังคลาสสิกเก่าแก่ดีๆ เข้ามาอีก เช่น The Big Country, Dual in the Sun, Vera Cruz, Last Train from Gun Hill, Cat Ballou

                ในอีกทางหนึ่ง เราสามารถสั่ง DVD หนังดีๆ ทางอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย ทำให้ได้เรียนรู้หนังคาวบอยมากกว่าที่จะหาได้ในไทย

 

2.2. ลักษณะหนังคาวบอยอเมริกัน

                หนังคาวบอยอเมริกันที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่จะ เน้นเรื่องคุณธรรมของลูกผู้ชาย ความเป็นสุภาพบุรุษ การเสียสละปกป้องความยุติธรรม การปกป้องช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า แสดงให้เห็นความตื่นเต้นจากการแสวงโชคและผจญภัยในดินแดนตะวันตก หนังคาวบอยจำนวนหนึ่งสร้างจากตำนานตะวันตก เช่น Red River, How the West was Won, Into The West, The Chisholms, Ghost Riders in the Sky, บัฟฟาโล บิลล์  บิลลี่ เดอะคิด, เจสสี เจมส์, ไวแอตต์ เอิร์ป, และบางเรื่องเน้นถ่ายทอดเรื่องราวการเสียสละของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกอเมริกา เช่น ศึกอะลาโม ประวัติการต่อสู้ของนายพลคัสเตอร์  การต่อสู้และคุณธรรมน้ำมิตรระหว่างคนขาวกับอินเดียนแดง  เช่น The Indian Fighter(ขุมทองอินเดียนแดง). Into The West, Broken Arrows หนังพวกนี้ส่วนใหญ่เน้นให้เห็นความดีความชั่ว ให้เห็นว่าการใช้ปืนฆ่าคนนั้นไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป และจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น  มีหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง พระเอกไม่ยอมยิงปืนแม้แต่นัดเดียว แต่ก็สนุกได้รสชาติจนได้รางวัล คือเรื่อง The Big Country (สองสิงห์จ้าวปฐพี)

                นอกจากนี้ หนังคาวบอยอเมริกันยุคต้นๆ ตั้งแต่ปี 1930-1955 ซึ่งเป็นยุคของ ยีน อาทรี (Gene Autry) และ รอย โรเจอร์ส (Roy Rogers) และวงดนตรีที่รอยตั้งขึ้นชื่อ “Sons of the Pioneers”  ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า Singing Cowboy คือ นักแสดงจะเป็นนักร้อง นักแสดงในตัว ใช้ชื่อตนเองในหนังทุกเรื่อง สร้างเอง แสดงเอง ยิ่งเน้นเรื่องคุณธรรมและความสนุกสนานแบบละครเวที โดยคิดถึงผลที่จะเกิดกับแฟนหนังที่เป็นเด็กๆ อย่างมาก จนกลายเป็นต้นฉบับของหนังคาวบอยชั้นดีในยุคหลัง

                โดยทั่วไป จะเห็นได้ว่า หนังคาวบอยอเมริกันที่มีคุณภาพ เป็นหนังที่ช่วยสร้างจิตวิญญาณของสุภาพบุรุษและความอยากเป็นฮีโร่ ในชายหญิงทุกคนที่ชอบหนังประเภทนี้   รวมทั้งช่วยอัดฉีดความรักในทุ่งโล่งและสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า วัว ส่งเสริมความรักในการผจญภัยเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เหมือนคนอเมริกันยุคบุกเบิก ซึ่งทำให้ชาติของเขาเจริญก้าวหน้าจนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในหลายๆ ด้าน

 

2.3.ลักษณะหนังคาวบอยอิตาลี

                ประมาณปี ค.ศ. 1960 ตอนต้น อิตาลีฉวยโอกาสตอนที่หนังคาวบอยอเมริการ้างลาจากโรงถ่ายไปพักหนึ่ง สร้างหนังคาวบอยเพื่อให้สะใจคนดูโดยเฉพาะ และยังจ้างดาราอเมริกัน อย่างเช่น คลิ๊นท์ อีสวูด, ชาร์ล บรอนสัน, เฮนรี่ ฟอนด้า, ลี แวนคลิฟ ไปแสดงจนก้าวจากดาราระดับพระรอง จนกลายเป็นพระเอกโด่งดังในวงการไปในที่สุด หนังพวกนี้ปลุกกระแสหนังคาวบอยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ฮอลลีวูดต้องกลับมาสร้างหนังคาวบอยออกมาอีก

                 ดาราอิตาลีจริงๆ ที่โด่งดัง ได้แก่ ฟรังโก เนโร จากเรื่อง จังโก้  เทอเรนซ์ ฮิลล์ และ บัด สเปนเซอร์ จากเรื่อง อย่าแหย่เสือหลับ(They call me Trinity) และ มอนต์โก เมอรี วูด จากเรื่อง Ringo แต่หนังของพวกเขายังเทียบไม่ได้กับหนังที่แสดงโดยดาราอเมริกันที่กล่าวแล้ว

                หนังคาวบอยอิตาลีส่วนใหญ่ จะแสดงให้เห็นการฆ่าคนเป็นเรื่องธรรมดาถึงขั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน แบบเลือดท่วมจอ คล้ายหนังจีนยุคหนึ่ง เน้นบทยียวนกวนประสาท ความแปลกใหม่ อวดอ้างความสามารถในการยิงปืนที่เหนือความเป็นจริง จึงเป็นหนังที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งถ้าจะให้เด็กที่ไร้เดียงสาดูหนังประเภทนี้

                มีหนังคาวบอยอิตาลีบางเรื่องเหมือนกันที่เน้นคุณภาพ แต่หาได้ยากมาก  ตัวอย่างที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหนังที่มีสาระสำหรับเด็กๆ บ้าง ได้แก่เรื่อง Blood and Grit ( 10 บัญญัติจอมมือปืน) แสดงโดย มอนโกเมอรี่ วูด และลี แวนคลิฟ

                  ภาพลักษณ์ของคาวบอยที่โด่งดังจากหนังเรื่อง จังโก้ (Django)   

            ที่กล่าวมาคือคาวบอยที่เรารู้จัก ซึ่งเป็นภาพสมมุติจากหนังตะวันตกที่หยิบเอาลักษณะโดดเด่นในทางที่ไม่ค่อยดีซะมากกว่า มาขยายความให้ผู้ดูหนังสนุกสนานเท่านั้น ชีวิตคาวบอยที่แท้จริงไม่ได้โลดโผนตื่นเต้นมากมายเช่นนั้น เป็นชีวิตที่ควรแก่การศึกษาอย่างมาก     

               

 

 

 

 

บทที่ 3. คาวบอยที่แท้จริงคือใคร

                ในปัจจุบัน คาวบอยตัวจริงในอเมริกายังคงมีอยู่ในหลายรัฐ โดยเฉพาะแถวเท็กซัสและมอนตานาเป็นรัฐที่มีการจ้างคาวบอยมากที่สุด หน้าที่หลักของพวกเขาก็คือ ขี่ม้าเลี้ยงวัว ตีตราวัว เช่นเดียวกับที่ทำกันมานานกว่า 100 ปี  อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของคาวบอย ตามที่เห็นในหนังคาวบอยดังที่กล่าวมาแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นยุคนี้หรือยุคใด เป็นการสร้างภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก    มีข้อเขียนของคาวบอยตัวจริงบางคน รวมทั้งของคนที่ศึกษาและคลุกคลีกับชีวิตคาวบอยจริงๆ แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ที่ฮอลลีวูดยัดเยียดให้พวกเขา ตัวอย่างเสียงจากคาวบอยตัวจริง สำหรับคนที่สนใจหาอ่านได้ที่  http://www.cowboymagazine.com/

ภาพวาดคาวบอยคลาสสิก โดยจิตรกร C.M. Russell (จาก www.wikipedia.com)

 

2.2. ประวัติคาวบอยในอเมริกา

2.2.1. ที่มาและความหมายของคำว่า คาวบอย

            ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของคำว่าคาวบอยอย่างเป็นทางการสักนิด  จากพจนานุกรม “American Heritage Dictionary” ให้ความหมายขอวงคำว่า cowboy ไว้ว่า

1.       A hired man, especially in the western United States, who tends cattle and performs many of his duties on horseback. Also called cowman, cowpoke, cowpuncher, also called regionally buckaroo, vaquero, waddy.  See Regional Note at vaquero.

2.       An adventurous hero.

3.       Slang. A reckless person, such as a driver, pilot, or manager, who ignores potential risks.

                ถอดความออกมาได้ว่า คาวบอย มีความหมายได้ 3 แบบคือ

1.       คนรับจ้างในแถบตะวันตกของอเมริกา โดยเฉพาะพวกที่ทำงานส่วนใหญ่ตามหน้าที่บนหลังม้า โดยมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกหลายคำ เช่น คาวแมน, คาวโพก, คาวพั๊นเชอร์, และยังมีคำเรียกเฉพาะบางพื้นที่ เช่น  บั๊กการู, วาเคโร และ วาดดี้

2.       วีระบุรุษผู้นิยมการผจญภัย

3.       คำแสลง หมายถึงพวกบ้าบิ่น เช่น คนขับรถ, นักบิน หรือ ผู้จัดการ ที่ไม่สนใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

 

                นอกจากนี้ พจนานุกรมอื่นๆ ก็ให้ความหมายที่คล้ายกัน  และอาจมากกว่านี้ ในแง่การใช้คำว่า คาวบอย เป็นกริยา ที่มีความหมายว่า การทำงานเป็นคาวบอย (to work as a cowboy)

                ในพจนานุกรม  วิกี้พิเดีย อธิบายลักษณะคนที่ถูกเรียกว่าคาวบอยและที่มาของคำว่าคาวบอยอย่างละเอียด เนื้อหาต่อไปนี้ส่วนใหญ่นำมาจากพจนานุกรมออนไลน์ฉบับนี้ซึ่งเขียนไว้ดีมาก

                ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า คาวบอย(cowboy)“ ซึ่งเกิดจากการนำคำว่า cow มารวมกับคำว่า boy ปรากฏในภาษาอังกฤษครั้งแรก ประมาณปี ค.ศ. 1715-25 โดยเป็นการแปลความหมายมาจากคำว่า วาเคโร(vaquero ออกเสียงสำเนียงสเปนว่า บาเกโร) ในภาษาสเปน ซึ่งหมายถึง คนขี่ม้าเลี้ยงวัว  คำว่า vaquero มาจากรากศัพท์ภาษาเสปนว่า vaca ที่แปลว่า วัว (cow) นอกจากนี้ภาษาอังกฤษอีกคำที่แปลว่าคาวบอย ก็คือ บั๊กการู(buckaroo) นั้น ว่ากันว่า เพี้ยนมาจากคำว่า วาเคโร นั่นเอง แต่เป็นการออกเสียงแบบภาษาสเปนสำเนียงอาหรับ

Image:Cowboy.jpg

รูปที่ 1 อเมริกันคาวบอยตัวจริง ราวๆ ปี ค.ศ. 1887 (http://www.wikipedia.com)

               

                พจนานุกรมวิกี้พิเดียระบุว่า ชาวสเปนเป็นชาติแรกที่พัฒนาวัฒนธรรมคาวบอยตามที่รู้จักกันทั่วโลกอยู่ทุกวันนี้  โดยเริ่มต้นรูปแบบการทำปศุสัตว์เป็นระบบที่ใช้พื้นที่กว้างใหญ่มาก เรียกว่า ระบบฮาเซียนดา(hacienda system) ระบบนี้พัฒนาขึ้นในยุคกลางของสเปน (เริ่มต้นประมาณ ค.ศ. 507-711 จบยุคประมาณ ค.ศ. 1492)  และแพร่กระจายไปในที่ต่างๆ เช่น อาเย็นตินา บราซิล เม็กซิโก และในที่สุดเข้าสู่อเมริกาผ่านทางเม็กซิโก

                ระบบฮาเซียนดาหนึ่งๆ ไม่จำกัดเฉพาะว่าเป็นฟาร์มปศุสัตว์เลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่า แรนซ์ (ranch) เท่านั้น แต่อาจรวมกิจกรรมอย่างอื่นด้วย เช่น การปลูกพืช ทำเหมืองแร่ และแม้กระทั่งโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งในหลายแห่งรวมธุรกิจทุกอย่างเหล่านี้อยู่ด้วยกันในหนึ่งระบบ

                ในศตวรรษที่ 16 นักบุกเบิกสเปนนำวิธีการเลี้ยงวัวโดยการใช้คนขี่ม้าดูแลและต้อนฝูงวัวสู่อเมริกา  เริ่มต้น ณ จุดที่พวกเขาอพยพเข้าไปในอเมริกายุคแรกๆ คือทางเม็กซิโกและฟลอริดา  วิธีการเลี้ยงวัวแบบระบบไฮเซียนดาจำเป็นสำหรับที่นี่ เนื่องจากพื้นที่มีหญ้าน้อย และอยู่กระจัดกระจายโน่นนิดนี่หน่อย เมื่อเลี้ยงวัวจำนวนมาก ก็จะเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และใช้คนขี่ม้าเพื่อทำงานนี้

                เรื่องแปลกอย่างหนึ่งก็คือ จากหนังคาวบอยเราคงเห็นคาวบอยและอินเดียนแดงในอเมริกาขี่ม้าว่าเป็นเรื่อง ปกติของผู้คนที่นั่น  จนทำให้คิดว่าม้าคือสัตว์ท้องถิ่นของอเมริกา แต่จริงๆ แล้ว ม้าเป็นสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงว่า ม้าป่าได้สูญพันธุ์ไปจากอเมริกาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งแล้ว ที่เห็นใช้งานเหมือนเป็นสัตว์ท้องถิ่นนั้น เอกสารส่วนใหญ่กล่าวว่าเป็นผลงานของพวกทหารและนักสำรวจชาวสเปนและชาวยุโรป ชาติอื่นอีกหลายชาติ ที่นำม้าสายเลือดอาราเบียน(Arabian), บาร์บ(Barb) และแอนดาลูเซียน(Andalusian) เข้าไปในอเมริกา และปล่อยให้มันกระจัดกระจายไปทั่ว ม้าจำนวนไม่น้อยหลบหนีเข้าป่า ผสมพันธุ์ข้ามสายเลือด กลายเป็นม้าป่าเลือดผสมที่หาได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ

                วัฒนธรรมคาวบอยยุคแรกในอเมริกาเริ่มต้นมาจากรัฐต่างๆ ในภาคกลางถึงด้านเหนือเม็กซิโกที่ติดกับอเมริกา ซึ่งรัฐส่วนเหนือนี้ต่อมาถูกอเมริกายึดครอง กลายเป็นรัฐทางใต้ เช่น เท็กซัส นิวเม็กซิโก คาลิฟอร์เนีย ก่อนหน้านั้น พวกคาวบอยเม็กซิกันมีอยู่ทั่วไปในถิ่นนี้ แต่แรกเป็นที่รู้จักกันในนามว่า ชาร์โร(Charro)  หรือ วาเคโร(vaquero)  พวกเขาเป็นคาวบอยรับจ้างที่ยากจน ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองเลือดผสมสเปนกับอินเดียนแดง(Native American) ในขณะที่เจ้าของไร่ปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นพวกสเปนพันธุ์แท้

 

2.2.2. คาวบอยในเท็กซัส

                ประมาณ ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา   ผู้สำเร็จราชการสเปนที่ปกครองเม็กซิโกในขณะนั้น ได้ยกพื้นที่แถบที่เรียกว่ารัฐเท็กซัสในปัจจุบัน ให้เป็นที่ตั้งรกรากของพวกอพยพจากต่างถิ่นที่ไม่ใช่ประชากรเม็กซิโก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนอเมริกัน  สตีเฟน เอฟ. ออสติน (Stephen F. Austin) กับพรรคพวกที่อพยพจากภาคตะวันออกอเมริกาไปอยู่ที่นี่ ได้ตั้งชุมชนของตนขึ้นในปี ค.ศ. 1821 โดยตอนแรกก็เหมือนจะทำตัวเป็นพลเมืองเม็กซิโกที่ดี เช่น ต้องใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก  ต่อมามีการรวมตัวก่อการต่อต้านอำนาจรัฐบาลเม็กซิโกขึ้น และนำไปสู่การประกาศแยกเท็กซัสเป็นรัฐอิสระเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1836 (ประกาศอิสรภาพขณะที่ป้อมอะลาโมยังถูกล้อมโดยทหารสหพันธ์รัฐเมกซิโก ศึกอะลาโมที่โด่งดังเกิดขึ้นระหว่าง  23 กุมภาพันธ์ 6 มีนาคม 1836 คาดว่าวีรบุรุษอะลาโมทั้งหมดตายโดยไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ) และต่อมาในปี ค.ศ. 1845 ได้เข้ารวมเป็นรัฐหนึ่งของอเมริกา ซึ่งทำให้คนอเมริกันหลั่งไหลไปตั้งรกรากในเท็กซัสมากยิ่งขึ้น

                คนอเมริกันในเท็กซัสยุคนั้น ได้รับอิทธิพลวิธีการเลี้ยงวัวแบบคาวบอยมาจากพวกเม็กซิกันวาเคโรอย่างมาก เรียกว่ายืมมาทั้งคำศัพท์และวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบคาวบอย และได้นำไปผสมผสานกับวิธีการเลี้ยงวัวที่เคยทำมาในภาคตะวันออกของอเมริกา รวมกับวิธีที่สืบทอดมาจากพวกอพยพชาวอังกฤษ  พวกเท็กซัสคาวบอยยุคนั้นส่วนใหญ่ ก็คือพวกคนหนุ่มที่เร่ร่อนรับจ้างทำงานตามไร่ปศุสัตว์ต่างๆ ตามฤดูกาล 

                หลังจากสงครามกลางเมืองอเมริกาสิ้นสุดลง วัฒนธรรมคาวบอยแบบนี้ได้แพร่กระจายไปทางเหนือและตะวันออกของอเมริกามากขึ้น เรื่อยๆ และได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นที่และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น มีการต้อนวัวระยะไกลเพื่อไปขายในเมืองที่รถไฟไปถึงทางตอนเหนือของเท็กซัส คือรัฐแคนซัสและเนบราสก้า(Nebraska)

 

2.2.3. คาวบอยในคาลิฟอร์เนีย

                อาชีพฝึกและดูแลม้าเพื่อเอาไว้ใช้งาน เป็นอาชีพของพวกคาวบอยชาวสเปนและเม็กซิกัน  ที่เบ่งบานในคาลิฟอร์เนียและแถบชายแดนเม็กซิโก มาตั้งแต่ยุคคาลิฟอร์เนียยังเป็นอาณานิคมของสเปน ซึ่งคนพวกนี้ตอนนั้นยังถูกเรียกว่า วาเคโร   พวกอเมริกันอพยพยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในคาลิฟอร์เนีย จนกระทั่งหลังจากสงครามเม็กซิกันเลิกรา และคาลิฟอร์เนียตกเป็นของอเมริกา พวกเสปนและเม็กซิกันเกือบทั้งหมดถูกบีบให้อพยพกลับไปอยู่เม็กซิโก อเมริกันพวกแรกที่เข้าไปส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นพวกทำเหมืองแร่ เพราะเป็นยุคตื่นทองในคาลิฟอร์เนีย  ดังนั้น งานดูแลสัตว์เลี้ยงในทุ่งหญ้า โดยเฉพาะวัว จึงเป็นงานของพวกคนหนุ่มสายเลือดผสมสเปนและเม็กซิกันที่ยังอยากจะอยู่ในคาลิฟอร์เนียต่อไป

                ดังนั้น พวกคาวบอยคาลิฟอร์เนีย จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่าพวก วาเคโร หรือ บั๊กการู(buckaroo)  แตกต่างจากพวกคาวบอยเท็กซัสตรงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพวกที่มีทักษะและความภักดีสูง คือจะทำงานอยู่กับค่ายปศุสัตว์ที่เขาเกิดมาตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่และมีครอบครัว หรือกล่าวได้ว่า จะอยู่ด้วยกันกับนายจ้างตั้งแต่เกิดจนตาย

                นอกจากนี้ วิธีการเลี้ยงวัวก็แตกต่างจากเท็กซัสตามสภาพภูมิประเทศ เพราะที่นี่ มีหญ้าเยอะกว่า จึงไม่ต้องต้อนวัวไปหากินไกลๆ การเลี้ยงวัวแบบทุ่งเปิด(Open Range)จึงมีน้อย  และการขายวัวก็ขายกันในพื้นที่ ไม่ต้องต้อนวัวไปขายระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรเหมือนในเท็กซัส วิธีการเลี้ยววัวที่นี่จึงมีลักษณะที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสเปนมากกว่า

 

คาวบอยแถวฟลอริดา หรือ แครกเกอร์คาวบอย

                คาวบอยแถวรัฐฟลอริดาในยุคศตวรรษที่ 19 และตอนต้นศตวรรษที่ 20 แตกต่างจากคาวบอยแถวเท็กซัสและคาลิฟอร์เนียดังกล่าวแล้ว คนท้องถิ่นเรียกคาวบอยพวกนี้ว่า คาวฮันเตอร์(cowhunter) หรือ แครกเกอร์คาวบอย(cracker cowboy)  ซึ่งมีลักษณะแตกต่างที่สำคัญคือ คาวบอยพวกนี้ไม่ได้ใช้เชือกหรือบ่วงบาศในการจับวัว  แต่ใช้สุนัขช่วยต้อนวัวเป็นเครื่องมือหลัก ทั้งม้าและวัวแถวฟลอริดาจะตัวเล็กกว่า วัวที่นี่น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 600 ปอนด์เท่านั้น แต่มีเขาใหญ่และเท้าใหญ่

Image:Remington A cracker cowboy.jpg

รูปที่ 2  แครกเกอร์คาวบอยแถวฟลอริดา(www.wikipedia.com)

 

                แครกเกอร์คาวบอยไม่ต้องใช้เดือยที่อานม้าในการคล้องเชือกเพื่อชักคะเย่อกับ วัว พวกเขาจึงไม่ได้ใช้อานม้าแบบตะวันตก(western saddle) แต่ใช้อานแบบ McClellan และบางคนใส่รองเท้าบูตที่ยาวหุ้มถึงเข่าเพื่อป้องกันงูกัด ส่วนหมวกก็จะเป็นหมวกขนสัตว์หรือหญ้าราคาถูก

                ม้าและวัวถูกนำมาเลี้ยงในฟลอริดาประมาณปลายศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ส่วนใหญ่คอกปศุสัตว์เป็นของรัฐบาลสเปนเพื่อผลิตเสบียงอาหารสำหรับทหารสเปน และขายในประเทศคิวบา  คอกปศุสัตว์พวกนี้นำพวกวาเคโรมาจากสเปนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นพวกอินเดียนแดงเผ่าทีมูกัว(Timucua) ซึ่งในระยะหลังศตวรรษที่ 18 เผ่านี้ถูกโรคระบาดและทหารสเปนฆ่าตายไปเกือบหมด การสู้รบทำให้คอกปศุสัตว์ของสเปนถึงจุดจบ

                อินเดียนแดงเผ่าครีก(Creek)  และเซมิโนล(Seminole) เข้ามาในพื้นที่แถบนี้ในศตวรรษที่ 18 และทำการเลี้ยงวัวที่หลงเหลืออยู่ แต่พอถึงศตวรรษที่ 19 ก็ถูกคนขาวขับไล่ให้อพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ทางตะวันตกและทางใต้ฟลอริดา และพวกคนขาวเข้าไปแย่งทำคอกปศุสัตว์ขนาดใหญ่แบบทุ่งเปิดจนหมด  แหล่งเลี้ยงวัวที่นี่เป็นขุมเสบียงที่สำคัญของรัฐบาลในช่วงสงครามกลางเมือง จนต้องตั้งกองทหารม้าขึ้นมาป้องกันฝูงวัว

                นอกจากคาวบอยในพื้นที่ที่กล่าวมาแล้ว  ยังมีคาวบอยในที่อื่นๆ ของอเมริกาที่มีลักษณะแตกต่างออกไปอีกหลายแห่ง เช่น ในฮาวาย และแม้กระทั่งคาวบอยในประเทศแคนาดา โดยทั่วไปแล้ว จะเห็นว่า คาวบอยตัวจริงในยุคก่อนนั้น  ก็คือพวกรับจ้างเลี้ยงวัวหลายเชื้อชาติ คือเป็นทั้งคนอเมริกัน สเปน และจำนวนไม่น้อยเป็นพวกอินเดียนแดงและอเมริกันนิโกร 

คำที่มีความหมายเหมือนกับคาวบอยมีอยู่หลายคำ ที่ใช้กันในท้องถิ่นแถบต่างๆ ของอเมริกา เช่น  คาวพั๊นเชอร์, คาวโพค, วาดดี้, บั๊กการู (Cow-puncher, Cow Poke, Waddie, Buckaroo) และในภาษาเสปนคือคำว่า วาเคโร(Vaquero)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เชื้อชาติของคาวบอยในอเมริกา

                คนที่รับจ้างเป็นคาวบอยในอเมริกามาจากหลายเผ่าพันธุ์ หาใช่มีแต่คนขาวไม่  ผลการสำรวจสัมมะโนประชากรอเมริกายืนยันว่า  คาวบอยมีสองชนชั้นด้วยกัน คือ 1) คาวบอยที่จ้างจากคนในเท็กซัสและรัฐอื่นๆ แถวที่ราบเชิงเขาทางตะวันออก และ 2) พวกเม็กซิกันจากย่านตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา  อาชีพนี้เป็นที่นิยมของพวกทาสนิโกรที่ได้รับการปลดปล่อยหลังสงครามกลาง เมืองอย่างมาก มีการประมาณว่า  15% ของคาวบอยทั้งหมดมีสายเลือดผสมอัฟริกันอเมริกัน(พวกนิโกรผสม)  โดยเริ่มกระจายตามเส้นทางต้อนวัวออกจากเท็กซัสประมาณ 25% จนเหลือ 2-3% ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่คาวบอยสายเลือดเม็กซิกันโดยเฉลี่ยมีอยู่ประมาณ 15% ในเท็กซัสและทางตะวันตกเฉียงใต้

 

คำศัพท์ที่ใช้เรียกคาวบอย

                ที่เว็บไซต์ www.cowboyshowcase.com ได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เรียกพวกคาวบอยและอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ไว้อย่างละเอียดมาก รวมทั้งมีรูปภาพให้ดูด้วย ข้อมูลต่อไปนี้ส่วนใหญ่นำมาจากเว็บไซต์แห่งนี้

1.3.1. โดรฟเวอร์(Drover)

                ในยุคปี ค.ศ. 1870 ถึง 1880 มีการจ้างคาวบอยต้อนวัวพันธ์เขายาว(longhorns) จำนวนมากจากเท็กซัส เพื่อไปขึ้นรถไฟทางเหนือและขายส่งต่อไปให้โรงฆ่าสัตว์ คาวบอยพวกนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โดรฟเวอร์(Drover) แปลตรงตัวก็คือ คนไล่วัว หรือคนต้อนวัว

               

2.3.2. บั๊กการู(Buckaroo)

                คำว่า บั๊กการู เพี้ยนมาจากภาษาเสปนคือ “vaquero” ซึ่งออกเสียงเป็น บาเกโร ซึ่งหมายถึงคาวบอยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันจะใช้เรียกพวกคาวบอยแถว Great Basin ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นแอ่งตรงกลางประเทศสหรัฐอเมริกาทางเหนือของเนวาดา  รวมไปถึงแถวไอดาโฮตอนใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือของคาลิฟอร์เนีย และตะวันออกเฉียงใต้ของโอเรกอน  คาวบอยพวกนี้นิยมใส่หมวกปีกแบบแบนราบ ไม่ดัดปีกให้โค้งงอนเหมือนคาวบอยทั่วไป ใส่ chinks ขี่ม้าใส่อานแบบ fork saddle พร้อมมี post horns และ  bucking rolls

                เครื่องแต่งกายแบบเก่าของคาวบอยพวกนี้จะประดับประดาด้วยเงินหรูหรากว่า คาวบอยแถบอื่นๆ ของประเทศ ว่ากันว่า บั๊กการูเป็นพวกคาวบอยหัวสูง ที่ทำงานแค่ขี่ม้าต้อนวัวเท่านั้น พวกเขาจะไม่ยอมทำงานอื่นๆ เช่น การซ่อมรั้ว  การป้อนหญ้าให้ม้าหรือวัว การเก็บเกี่ยวหญ้า และงานจุกจิกอื่นๆ งานพวกนี้เขาให้พวกที่เรียกว่า ranch crew หรือ ROSIN JAW:  ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกพวกบั๊กการูอีกอย่างว่า อัศวินแห่งทุ่งกว้าง

 

                สไตล์การแต่งกายและเครื่องใช้ต่างๆของบั๊กการู รวมทั้งวิธีบังคับม้าของพวกเขาเป็นที่นิยมกันมากในภาคอื่นๆ ของอเมริกาและทั่วโลก

 

 

คาวบอยหญิงยุค ค.ศ. 2000 - www.cowboyshowcase.com

            CHARRO ชาร์โร เป็นคำเรียกสุภาพบุรุษขี่ม้าในเม็กซิโก พวกนี้ปกติจะแสดงออกโดยการขี่ม้ารวดเร็วและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีลายดอกหรูหรา รวมทั้งการตกแต่งเครื่องใช้ต่างๆ ลักษณะเดียวกัน พวกชาร์โรกำเนิดมาจากรัฐจาลิสโก (Jalisco) และ กูเรโร (Guerrero) ในเม็กซิโก  การรวมตัวของชาร์โรเพื่อโชว์หรือแข่งขันฝีมือในการขี่ม้า ต้อนวัว เหมือนงานโรดิโอของอเมริกาเรียกว่า งานชาร์เรียดา (CHARREADA)

งานชาร์เรียดา www.cowboyshowcase.com

            ผู้หญิงขี่ม้าด้วยอานสุภาพสตรีแบบหันข้างที่เข้าร่วมฝึกต้อนม้าในงานชาร์เรียดานั้น เขาเรียกกันว่า เอสคารามูซ่า(ESCARAMUZA)

 เอสคารามูซ่า(ESCARAMUZA) www.cowboyshowcase.com

 

ในกลุ่มของคาวบอย จะมีคนทำหน้าที่เลี้ยงดูม้าเพื่อให้เปลี่ยนเมื่อมันเหนื่อยล้า พวกเขาเรียกคนพวกนี้ว่า แรงเลอร์ (WRANGLER:  A livestock herder, especially of saddle horses.)

                ส่วนคำว่า Cow Boss นั้นหมายถึงหัวหน้าคาวบอย ซึ่งมีอำนาจในการสั่งงาน จัดการเกี่ยวกับการงานที่คาวบอยทำ สามารถจ้างงาน หรือไล่คาวบอยออกงานได้ เขาจะรับคำสั่งตรงจากผู้จัดการทั่วไปของไร่

                คำว่า Cowman เป็นคำหนึ่งที่อาจเข้าใจผิดว่าหมายถึงคาวบอยเช่นกัน แต่จริงๆ แล้ว คำนี้หมายถึงเจ้าของไร่ปศุสัตว์ที่เลี้ยงชีพโดยการเลี้ยงวัว อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นลูกจ้างเหมือนพวกคาวบอยเชียว

 

2.2. คาวบอยในปัจจุบัน  

คาวบอยตัวจริงเป็นอย่างไร

                 จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับคาวบอยตัวจริง ที่ปรากฏในวารสารและเว็บไซต์ต่างๆ ที่อ้างไว้ตอนท้ายของหนังสือนี้  รวมทั้งนิยายคาวบอยระดับคุณภาพของนักเขียนที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจริงๆ ก่อนเขียน อย่างเช่น หลุยส์ ลามูร์ (Louis L’Amour) ถ้าใครเคยอ่านมาบ้างพอควร จะรู้ว่า วิถีชีวิตของคาวบอยที่แท้จริง  ไม่ได้โลดโผนเป็นนักเลงที่ก้าวร้าวรุนแรงอย่างนั้น  หากแต่เป็นวิถีชีวิตที่สมถะของสุภาพบุรุษผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร หรือถ้าเป็นพวกรับจ้าง ก็เป็นพวก hard work low pay (งานหนักค่าจ้างต่ำ) ที่รักงานและถือว่างานของตนมีเกียรติ์ เต็มไปด้วยคุณธรรมประจำใจ มีความอุตสาหะ วิริยะ อย่างยิ่ง พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเองด้วยหยาดเหงื่อแรงงานที่สุจริต หนักเอาเบาสู้ รวมทั้งยังยึดมั่นในคุณธรรมน้ำมิตร ที่น่ายกย่อง เป็นแบบอย่างที่ประทับใจของคนที่ได้รู้จักคบหา จนเล่าขานต่อๆ กันมาถึงทุกวันนี้

                มีแมกกาซีนฉบับหนึ่ง ชื่อว่า คาวบอยแมกาซีน(Cowboy Magazine)เป็นแมกกาซีนที่เน้นนำเสนอชีวิตที่แท้จริงของคาวบอยโดยเฉพาะ ดาร์เรลล์ อาร์โนลด์(Darrell Arnold) เจ้าของและผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ได้วางแนวทางของแมกกาซีนแหวกแนวจากที่ต้องจ้างนักเขียนประจำ โดยให้คาวบอยตัวจริงเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเอง รวมทั้งกิจวัตรประจำวัน หรือเรื่องราวในไร่ปศุสัตว์ โดยใช้สำนวนภาษาของผู้เล่าเอง บรรณาธิการจะไม่แก้ไขปรับปรุงสำนวนใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีการผิดเพื้ยนจากความเป็นจริง อาร์โนลได้กล่าวถึงความเห็นของเขาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของคาวบอยที่ผิดเพี้ยน ในสายตาของคนทั่วไป และพยายามอธิบายตัวตนของคาวบอยที่แท้จริง ดังนี้

         “ผมก่อตั้ง Cowboy Magazine ในปี 1990 โดยมีความตั้งใจเพื่อช่วยชาวคาวบอยอเมริกันให้มีที่เล่าเรื่องราวในชีวิตและส่งเสริมวิถีชีวิตคาวบอยที่แท้จริงของเขา  ผมไม่ต้องการสรรเสริญวิถีชีวิตคาวบอยผิดๆ แบบที่ฮอลลีวูดเคยทำมา  อย่างเช่น  ขี้เมาหยำเป  ชอบต่อสู้กันด้วยปืน  เป็นพวกมีนิสัยก้าวร้าว และโอ้อวดเกินจริง  เป้าหมายของผมต้องการแสดงให้เห็นคาวบอยตามลักษณะที่แท้จริงของเขา ในฐานะคนทำงานที่มีทักษะพิเศษและมีบุคลิกเฉพาะตามวิชาชีพของเขา
     คาวบอยคือผู้ชายที่คอยดูแลฝูงวัวอยู่บนหลังม้า และโดยทั่วไปเขาคือลูกจ้างของเจ้าของไร่ปศุสัตว์ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ฝูงวัว และบางทีก็เป็นเจ้าของฝูงม้า(remuda)ด้วย  คาวบอยคือผู้มีความรู้ดีในการฝึกและใช้ม้า  เพื่อจัดการฝูงวัว ในการใช้ทุ่งหญ้าอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้สูงสุด  และภายใต้ภูมิอากาศและสภาวะแวดล้อมที่เขาจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้งานของเขาสำเร็จได้  คาวบอยคือช่างเทคนิคผู้รู้จักทักษะในการใช้เชือก อันเป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับม้าของเขา เพื่อควบคุมพวกวัวดื้อให้ได้  ซึ่งส่วนใหญ่วัวพวกนี้มีขนาดเท่าๆ กับตัวคาวบอยนั่นเอง

     ยิ่งกว่านี้   ถ้าคาวบอยโชคดีพอ จนสามารถมีครอบครัวและอยู่ในธุรกิจปศุสัตว์ได้  เขาก็อาจจะกลายเป็นเจ้าของคอกปศุสัตว์เสียเอง   หรือมันอาจกลับกลายเป็นว่า  สภาวะเศรษฐกิจบังคับให้เจ้าของคอกปศุสัตว์ที่หาเลี้ยงชีพจากคอกของตัวเองอาจต้องกลายเป็นคาวบอยเสียเอง  เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ้างคาวบอยคนอื่นๆ มาทำงานให้เขาได้   บ่อยครั้ง เจ้าของปศุสัตว์หรือคาวบอยจะมีภรรยาและลูกๆเป็นเพื่อนคาวบอยช่วยงานในไร่ปศุสัตว์ของเขาเอง

                วิถีชีวิตของคนอเมริกันในยุคคาวบอยที่นำมาสร้างหนังกันเสมอๆ คือในช่วงปี 1970 -1990 ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ความฝันและความหวังมากที่สุด เพราะใครๆ ก็เข้าไปจับจองที่ดินที่ว่างเปล่าได้ตามใจชอบ โดยมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากแถบตะวันออกและยุโรปเป็นกำลังหนุน  เมื่อได้ที่ดินแล้ว แต่ละคนก็พยายามจะบุกเบิกสร้างฐานะครอบครัวของตนเองอย่างเต็มที่ โดยอาชีพหลักในระยะแรกๆ นั้นก็คือทำไร่ข้าวโพดและเลี้ยงวัว เพราะวัวเป็นสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แถบตะวันตกมากที่สุด และเนื้อวัวเป็นอาหารที่นิยมกันของพวกผู้ดีมีเงินในภาคตะวันออกของอเมริกา ที่เจริญแล้ว ทำให้ขายได้ราคาดี 

                การดำรงชีวิตของชาวไร่ปศุสัตว์แถบตะวันตกของอเมริกาในยุคคาวบอย  ถ้าจะพิจารณาตามกระแสความนิยมร่วมสมัยของคนไทยยุคนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิถีชีวิตแบบพอเพียงอีกแบบหนึ่ง ที่พยายามพึ่งตัวเองในทุกด้าน ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมอุดมคติที่มีระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ที่คนไทยบางส่วนฝันหาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ ปัจจุบันนี่เอง 

                มีภาพยนตร์การ์ตูนคาวบอยดีๆ บางเรื่อง เช่น Home on the Range ของ Waltz Disney แสดงให้เห็นจินตนาการวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ชัดเจนมาก คือเป็นเรื่องของครอบครัวเล็กๆ ของแม่ม่ายคนหนึ่ง ที่มีไร่ชื่อ Patch Heaven โดยนางมีพวกสัตว์เช่นเป็ด ไก่ หมู แพะ และวัวจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยปลูกผักปลูกไม้และเก็บผลผลิตเพื่อกินและส่งขายแบบพอมีพอกิน โดยนางถือว่า พวกสัตว์ทุกตัวเป็นสมาชิกในครอบครัวเท่ากับคนเช่นกัน

                น่าเสียดาย ที่พัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้วิถีชีวิตของคนอเมริกันส่วนใหญ่เปลี่ยนไปสู่ระบบสังคมแบบทุนนิยมสุดโต่ง ที่ทำให้สังคมคาวบอยแบบเศรษฐกิจพอเพียงในตะวันตกได้สูญหายไปเป็นส่วนมาก  ที่เหลืออยู่บางส่วนในขณะนี้  สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยค่านิยม และ ใจ ที่รักที่จะทำอาชีพแบบดั้งเดิมต่อไปเท่านั้นเอง

                การฝืนกระแสทุนนิยมด้วยการชูระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความกล้าหาญนี่น่าชื่นชม แต่จะสำเร็จหรือไม่ บทเรียนจากวิถีชีวิตคาวบอยตะวันตก เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาว่า มันเคยเกิดขึ้น และหายไปเพราะอะไร อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งที่เบื่อหน่ายระบบทุนนิยม ก็กำลังเรียกร้องให้เพื่อนร่วมชาตินำค่านิยมและหลักการคุณธรรมในการดำรง ชีวิตยุคคาวบอย กลับมาเป็นแนวทางพัฒนาประเทศอีกครั้งหนึ่ง แนวคิดนี้ปรากฏชัดในบทกลอนชื่อ “Bring back the code” ของ Jim Reader ผู้เป็นทั้งกวี นักแต่งเพลงและนักร้องคาวบอยคนหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งฟังเสียงของเขาได้ที่ http://www.cowboyreview.com/clips.htm

Bring Back the Code
by Jim Reader, Cowboy Entertainer, Canada
 
In the Old West, you bet it was rough      

ในตะวันตกสมัยก่อน เชื่อเลยว่ามันยากลำบาก
Both men and women were hardy and tough   

ทั้งหญิงชายต่างแกร่งกล้าและทรหด
For sure there were those who were lawless and mean 

แน่ละมีพวกนอกกฎหมายและพวกเอาแต่ได้
But most folks were fine,          

แต่คนส่วนใหญ่เป็นคนดี
like you and like me.            

เหมือนคุณ  เหมือนผม
 
In the absence of politics, fences and rules   

ในภาวะที่ปลอดการเมือง ปลอดรั้วและกฎหมาย
an unwritten 'code' was the West's best tool   

บทบัญญัติที่ไม่ต้องบันทึกคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในยุคนั้น
You behaved, or you could die      

คุณต้องทำตาม หรือไม่ก็ตาย
No foolin, no waiting, short trial.      

ไม่มีการหลอก ไม่มีการรอ การพิพากษานั้นสั้น
An eye for an eye and a one way trip       

ตาต่อตา และการเดินทางที่ไม่มีวันหวนกลับ
to that rangeland in the sky.         

สู่ดินแดนทุ่งกว้างบนฟากฟ้าแห่งนั้น
 
So here we are now in a media blitzed haze   

ดังนั้น วันนี้เราจึงมาอยู่ท่ามกลางความสับสนจากสื่อมากมาย
a hundred and twenty years later     

 ร้อยยี่สิบปีต่อจากนั้นมา
and the 'Code's' lost in space.         

บทบัญญัติก็อันตรธานไปในอวกาศ
Well, I for one think that... well         

แต่ ผมคนหนึ่ง ที่คิดว่า
since the world's in the tank         

เนื่องจากโลกนี้เหมือนเวียนวนอยู่ในถัง
that living according to the 'Code'      

การมีชีวิตอยู่ตาม บทบัญญัติ
could redeem us again.         

จะนำคุณค่าที่หายไปของพวกเราคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
 
From techno-speed to quick relief      

จากความเร็วของเทคโนโลยีและการปลดปล่อยที่รวดเร็ว
from immediate gratification to ... who know's synthetic meat,

จากความพอใจในทันที ถึง... ใครจะรู้  เนื้อสังเคราะห์
The world's a changing under our nose   

โลกคือการเปลี่ยนแปลงอยู่แค่ใต้จมูกของเรา
and the values and principles our forefathers chose

และคุณค่าและหลักการ ที่บรรพบุรุษของเราเลือก
have faded away, like petals off the rose.   

ได้จางหายไปเหมือนกลีบกุหลาบที่ร่วงโรย
 
We're desensitized now         

เราถูกทำให้เหมือนวัตถุที่ไร้ความรู้สึกในขณะนี้
through the press, movies, radio, games and TV,  

 โดยหนังสือพิมพ์  ภาพยนตร์  วิทยุ เกมส์ และทีวี
and it's 'little' eyes and ears          

และดวงตา และหูน้อยๆ ทั้งหลาย
that are the victims of this disease      

ต่างก็กลายเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้
We're constantly whacked and bombarded by stuff 

เราถูกกระหน่ำตีและทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องด้วยสิ่งต่างๆ
It appears there's no limits, nothing is sacred      

ปรากฏชัดว่าไม่มีเขตจำกัด ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์
enough is enough.               

พอเป็นพอ
 
Let's go back in time            

ลองย้อนกลับไปสู่มิติแห่งเวลา
turn back the clock            

หมุนนาฬิกาย้อนกลับ
Back to the Future... major culture shock.   

กลับไปสู่อนาคต... ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่
I know it's cool to be a rebel and not to conform   

ผมรู้ว่ามันง่ายที่จะเป็นผู้ต่อต้านและไม่ยอมเป็นผู้ยอมทำตาม
But heck, nowadays your an outcast 'Pollyanna"   

แต่ ฮึ, ทุกวันนี้ คุณจะถูกขับไล่ออกจากสังคม มองโลกในแง่ดี
If your friendly and warm.            

ถ้าคุณเป็นคนกันเองและอบอุ่น
 
Imagine all people, in person or .. say on the phone   

จินตนาการดูว่า คนทุกคน ปฏิบัติต่อกันไม่ว่าโดยตรง หรือทางโทรศัพท์
using kindness and kinship          

ด้วยความเมตตากรุณา
that frontiersmen had known.         

ดังเช่นคนยุคบุกเบิกได้กระทำมา
At its purest and best, this Code of the West   

อย่างบริสุทธิ์ที่สุดและดีที่สุดแห่ง บทบัญญัติแห่งตะวันตกนี้
was personal traits that stood the test.   

ด้วยสันดานเฉพาะตนที่ยืนยัดสู้ทนการทดสอบ
 
If more people had the cowboy's touch   

ถ้ามีคนได้รับรู้ สัมผัสแห่งคาวบอยมากขึ้น
at courtesy, manners, respect and such,   

ที่ความเอื้อเฟื้อกริยามารยาท, ความนับถือ และอื่นๆ
they find right quick that integrity and honor   

พวกเขาจะพบได้อย่างเร็วว่า  ความซื่อสัตย์และเกียรติศักดิ์
are powerful stuff.            

คือพลังอันยิ่งใหญ่
 
Yup, the Code's behaviours, principles and values we need   

ใช่, บทบัญญัติแห่งพฤติกรรม, หลักการ และคุณค่าที่เราต้องการ
to rope-in the indigence and rein-in the greed.    

เพื่อผูกมัดไว้ซึ่งความยากไร้และความตระกะ

So here's to the Westerners      

ดังนี้  ขอฝากถึงชาวตะวันตกทั้งหลาย
and their qualities of old,      

และคุณภาพอันเก่าแก่ของพวกเขา
Dear God, bring back the Code.   

พระเจ้า โปรดนำ บทบัญญัติแห่งตะวันตกนั้นกลับคืนมา

 

 

There aren't many people who still live the way we do, working in the sun all the time and shoveling manure every day (มีคนไม่มากนักที่ยังใช้ชีวิตเหมือนดังที่เราเป็นอยู่ ทำงานใต้แสงแดดตลอดเวลา และต้องใช้พลั่วตักปุ๋ยมูลสัตว์ทุกวัน). ภาพโดย: Cynthia Baldauf  จาก http://www.associatedcontent.com/

 

                ความหมายของคำว่า คาวบอย สำหรับคนอเมริกันปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงแค่ผู้ชายขี่ม้าต้อนวัวที่มีลักษณะดังที่เห็นในหนังเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้หญิงที่ขี่ม้าต้อนวัวด้วย แม้จะมีคำว่า คาวเกิร์ล(Cowgirl) ให้เห็นก็ตาม  แต่คนอเมริกันที่เป็นพวกนิยมวิถีชีวิตคาวบอยจริงๆ เขาไม่ชอบคำนี้เท่าไร เพราะมันหมายถึงพวกนางแบบ หรือพวกนักแสดงที่รับจ้างแต่งตัวแบบคาวบอยเพื่อหวังผลทางโฆษณามากกว่า

                 ศัพท์อเมริกันคาวบอยฮาร์ดคอร์ทั้งหลาย อย่างเช่น ที่ www.cowboyshowcase.com ก็ให้ความหมายว่า COWGIRL:   We prefer the term female cowboy and the term cowboy, as used in this site, refers to both genders.” แปลว่า เขาเห็นว่าไม่ควรเรียกคาวเกิร์ล น่าจะเรียกว่า คาวบอยหญิง(female cowboy) มากกว่า ทั้งนี้เพราะคำว่าคาวบอยนั้นเขาหมายถึงผู้มีอาชีพขี่ม้าเลี้ยงวัวทั้งสองเพศ   และจริงๆ แล้ว ผู้คนในวงการคาวบอยที่แท้จริง เขาใช้คำๆ นี้เป็นทั้งคำนามและกริยาไปแล้ว   คือถ้าเป็นคำนาม ก็หมายถึงคาวบอยทั้งหญิงและชาย แต่ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึงการขี่ม้าต้อนวัว ทั้งที่เจ้าของไร่ปศุสัตว์ทำเอง หรือการไปรับจ้างทำงานนี้ให้คนอื่น

                บทความเรื่อง “Living a Cowboy’s Life” (การมีชีวิตอยู่แบบคาวบอย) เขียนโดย แดเนียล มิลเลอร์(Daniel Miller) คาวบอยระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมอนตานา(University of Montana) ซึ่งเขียนไว้ในนิตยสาร Span ประจำเดือนมกราคม/กุมภาพันธุ์ 2550 นี้  (http://usembassy.state.gov/posts/in1/wwwhspjanfeb0730.html)  มีตอนหนึ่งเขียนถึงคำว่าคาวบอยในปัจจุบันไว้น่าสนใจมาก ดังนี้

แม้จะมีความสนใจและความนิยมคาวบอยอย่างมาก  แต่วิถีชีวิตที่แท้จริงของคาวบอยตัวจริงที่ทำงานต้อนวัวจริงๆ ยังเป็นที่เข้าใจผิดกันอย่างมาก  คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดๆ ด้วยว่า คาวบอยที่แท้จริงนั้น ไม่มีในโลกอีกแล้ว  เพราะเข้าใจว่า งานเลี้ยงวัวในยุคนี้ เขาทำกันโดยใช้รถปิกอัพ มอเตอร์ไซด์ และเฮลิคอปเตอร์กันหมด  ไม่มีใครใช้ม้าต้อนวัวกันอีกแล้ว

                แต่ในความเป็นจริง คาวบอยตัวจริง ที่ทำงานคาวบอยจริงๆ ยังอยู่ ยังมีอยู่ทั่วอเมริกาแถบตะวันตก  พวกเขายังขี่ม้าต้อนวัว  และพวกเขาใช้คำว่า คาวบอย ทั้งในรูปกริยา และคำนาม   การใช้คำว่าคาวบอยเป็นกริยา อยู่ในบทความของเขาตอนหนึ่งว่า “For many years, I cowboyed on large cattle ranches in the state of Montana, in the western Unites States.” แปลว่า หลายปีทีเดียว ที่ผมคาวบอยอยู่ตามปศุสัตว์เลี้ยงวัวขนาดใหญ่ในรัฐมอนตานา ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

                แดเนียนกล้าพูดเช่นนั้น เพราะว่าเขาเคยทำงานเป็นคาวบอยอยู่ในไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในรัฐมอนตานาทางตะวันตกของอเมริกามาตั้งแต่เด็ก เขาขี่ม้าต้อนวัวเป็นพันๆ ตัว  โดยมีรถม้าเสบียงไปส่งอาหารให้พวกคาวบอย ที่ตั้งแค้มป์ต้อนวัวกันอยู่กลางทุ่งหญ้าป่าเขา ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกับที่เคยทำกันมา 100 กว่าปีที่แล้ว ในหน้าหนาวเขาต้องนำหญ้าไปให้วัวโดยใช้ม้าลากเลื่อนบรรทุกหญ้า ในช่วงหน้าร้อน พวกคาวบอยต้องตั้งแคมป์คอยดูแลวัว (cow camp) กลุ่มของเขาต้องดูแลวัวถึง 1,500 ตัว ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุ่งปศุสัตว์

คาวบอยหญิงตัวจริงยุค พ.ศ.  2549-50 ดูให้ดีจะเห็นว่าใส่แว่นตาดำ

 

รถม้าเสบียงหรือ Chuck Wagon ที่ยังใช้อยู่ในมอนตานายุค พ.ศ.  2550

บริเวณเต๊นท์เสบียงที่คอยต้อนรับเลี้ยงดูพวกคาวบอยที่เหน็ดเหนื่อยจากการต้อนวัว

                ทุ่งปศุสัตว์ที่แดเนียลเคยทำงานมีพื้นที่กว้างถึง 40,500 เอเคอร์ หรือประมาณ 101,250 ไร่ (1 เอเคอร์ ประมาณเท่ากับ 2.5 ไร่) ราคาวัวพันห้าร้อยตัวที่เขาดูแลมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เงินเดือนของพวกคาวบอยแต่ละคน ได้แค่เดือนละ 500 ดอลลาร์ ราคาอานม้าดีๆ ที่ต้องซื้อเองก็ประมาณ 1,500 ดอลลาร์ รองเท้าบูตคู่หนึ่งก็ประมาณ 200 ดอลลาร์


แดเนียล มิลเลอร์ ผู้เขียน เขาเคยทำงานเป็นคาวบอยส่งเสียตัวเองล่าเรียนอยู่หลายปี ก่อนที่จะเรียนจบปริญญาโททางด้านป่าไม้ และผันอาชีพมาเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการช่วยเหลือด้านเกษตรกรรมในหลายประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน   ภูฐาน จีน มองโกลเลีย เนปาล ขณะนี้ (พ.ศ. 2550 )เขาอยู่ในอินเดีย

 

เครื่องแต่งการคาวบอยตัวจริงยุคปัจจุบัน

 

                งานของคาวบอยที่หนักมาก ซึ่งมีประมาณปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง คืองานต้อนวัวที่ปล่อยให้หากินอย่างอิสระในทุ่งกว้างใหญ่ไพศาลมารวมกัน ซึ่งเรียกว่าการ ราวด์อัพ(round up) เพื่อตีตราหรือเพื่อจับส่งขายตลาด แดเนียลเล่าว่า ในไร่ที่เขาทำอยู่ จะทำราวด์อัพในหน้าร้อน แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ (เขาทำงานในไร่ชื่อ Padlock Ranch)  ซึ่งคาวบอยต้องนอนในเตนท์กลางทุ่งหญ้าตลอดระยะเวลานั้น โดยมีรถเสบียงส่งอาหารจากไร่มาส่งเป็นระยะ แต่และแค้มป์ต้องต้อนวัวประมาณ 3,000 กว่าตัว โดยมีคาวบอยประมาณ 12 คน ซึ่งพวกเขาจะต้องตีตราลูกวัวให้ได้ประมาณวันละ 100 ถึง 200 ตัว

                ช่วงราวด์อัพพวกเขาอาจมีโอกาสได้พักสัก 2-3 วันเท่านั้นถ้าฝนตก ซึ่งจะถือโอกาสเข้าเมืองไปอาบน้ำและดื่มเบียร์   เวลานอกจากนั้นก็คือเวลาที่พวกคาวบอยทั้งหลายจะต้องใช้อยู่กับวัว โดยการขี่ม้าต้อนลูกวัวมา เหวี่ยงเชือกบ่วงบาศจับมันมา และต้องปล้ำ (rasslin หรือ wrestling)กับวัวเพื่อล้มมันให้นอนตีตราให้ได้ตามจำนวนที่ได้รับมอบหมายไว้จากนายจ้าง

               

 

 

 

 

1.4. ประวัติเส้นทางต้อนวัวชิโซฮ์มเทรล (The Old Chisholm Trail)

                การเลี้ยงวัวและต้อนวัวไปขายเป็นระยะทางไกลๆ มากกว่าพันกิโลเมตรของคนอเมริกันแถบตะวันตก คือสิ่งที่ทำให้เกิดอาชีพคาวบอยเฟื่องฟูขึ้นในเท็กซัสช่วงปี ค.ศ. 1870-1990 

                ระยะแรกๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1800 การเลี้ยงวัวในแถบรัฐเท็กซัส และใกล้เคียงทำกันแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้ลงทุนมาก แค่ปล่อยให้มันหากินตามทุ่งหญ้าด้วยตัวเอง  ถึงเวลาก็ไล่ต้อนมาตีตราหรือส่งขาย  ก็อยู่ได้อย่างสบายๆ แล้ว

                แม้กระทั่งชาวบ้านทั่วไปในเท็กซัสยุคนั้น ที่ไม่ได้ทำปศุสัตว์จริงจัง แต่ละครอบครัวจะมีวัวของตนเองโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 20 ตัว ราคาวัวในพื้นที่จึงตกต่ำมาก เพราะทุกครอบครัวเลี้ยงวัวไว้รีดนมกินเป็นอาหารหลัก  กล่าวกันว่าตัวละ 2 ดอลลาร์ ยังไม่มีใครซื้อเลย  แต่ถ้านำไปขายทางตะวันออก ที่นิยมบริโภคเนื้อวัวมากๆ ได้ ราคาวัวแค่จุดที่ส่งขึ้นรถไฟต่อไปนิวยอร์ค หรือวอร์ชิงตัน  ตกตัวละประมาณ 20 ดอลลาร์เลยทีเดียว

                 ยุคอาชีพคาวบอยเฟื่องฟู ที่กลายเป็นนิยายและหนังสนุกสนานมากที่สุด คือยุคที่มีการต้อนวัวระยะไกลตามเส้นทางจากเท็กซัส ผ่านซิโซล์มเทรลไปขึ้นรถไฟแถวตอนใต้ของรัฐแคนซัส (อ้างจาก Chisholm Trail History, Jesse Chisholm and Joseph McCoy. http://www.vlib.us/old_west/trails/cthist.html และ The Chisholm Trail by John Rossel, February, 1936 (Vol. 5, No. 1), pages 3 to 14. Transcribed by Elizabeth Lawrence; digitized with permission of the Kansas State Historical Society.)  

                งานต้อนวัวระยะไกลเริ่มต้นประมาณปี ค.ศ. 1867  เนื่องจากเป็นการต้อนวัวเป็นล้านๆ ตัวผ่านเส้นทางนี้ อาชีพรับจ้างขี่ม้าต้อนวัว ที่เรียกว่าคาวบอยจึงขยายจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดตำนานเล่าขานตามเส้นทางขึ้นมากมาย

                หนังคาวบอยที่พยายามแสดงประวัติของการต้อนวัวจากเท็กซัสไปขายที่ชุมทางรถไฟ แถวเมืองอาบีดีนในรัฐแคนซัสเป็นครั้งแรก คือเรื่อง Red River (1948)  แสดงโดย John Wayne เป็นหนังที่สนุกสนานและประทับใจผู้เขียนมาก

                เรามาดูการเล่าเรื่องราวชีวิตสนุกสนานของคาวบอยต้อนวัวตามเส้นทางสายนี้จากเพลง เส้นทางชิโซฮ์มสายเก่า (The Old Chisholm Trail)  กันดีกว่า

                    เส้นทางชิโซล์มสายเก่า (The Old Chisholm Trail)  คือเส้นทางต้อนวัวที่ใช้กันมากที่สุดในยุคคาวบอยเฟื่องฟู   เป็นชื่อที่เรียกตามเส้นทางขายสินค้าของพ่อค้านักบุกเบิกลูกครึ่ง สก๊อต-อินเดียนแดงเผ่าเชโรกี ชื่อ เจสซี่ ชิโซล์ม (Jesse Chisholm)

                    เริ่มจากปี 1864 เจสซีใช้เกวียนขนสินค้าตามเส้นทางของทหารม้าเก่าจากจุดบรรจบกันของแม่น้ำ Little Arkansas และ Big Arkansas ตอนใต้เมืองวิชิตา(Wichita) มุ่งใต้ไปถึงคลังสินค้าของเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง Oklahoma เพื่อขายให้พวกทหารตามป้อมค่ายและพวกอินเดียนแดง ช่วงนี้ยังไม่มีการต้อนวัวผ่านทางนี้เป็นเส้นทางหลัก แต่สภาพในเท็กซัสขณะนั้น มีวัวมากเกินต้องการเพราะเลี้ยงง่าย ราคาจึงถูกแค่ตัวละ 2-3 ดอลลาร์ ในขณะที่ทางเหนือบริโภคเนื้อวัวมาก ราคาวัวสูงกว่าเท็กซัสเกิน 10 เท่า  ปัญหาก็คือ จะนำวัวเท็กซัสไปขายทางเหนือมากๆ ได้อย่างไร

                    พ่อค้าวัวชื่อ โจเซฟ จี แม็ก คอย (Joseph G. McCoy) จากรัฐอิลลินอยส์มองเห็นโอกาสทำกำไรจากการขายวัวเท็กซัสให้รัฐทางเหนือและสร้างธุรกิจเมืองวัว(Cow Town)ขึ้น คือสร้างที่พักวัวและสถานบริการต่างๆ ที่จุดขนส่งวัวด้วยเส้นทางรถไฟสาย Union Pacific ไปยังรัฐอื่นๆ เพื่อให้คนที่นำวัวจากเท็กซัสมาขายให้พ่อค้าจากรัฐที่เจริญแล้วมาใช้บริการ 

                    แม็กคอยซื้อที่ดิน 480 เอเคอร์ด้วยราคาเอเคอร์ละแค่ 5 ดอลลาร์ และสร้างคอกวัวสำหรับเช่าใช้ชั่วคราวขึ้นแถวเมือง Abilene รัฐแคนซัสทางเหนือของเมืองวิชิต้า คอกนี้จุวัวได้กว่า 3 พันตัว  จากนั้นเขาขยายเส้นทางต้อนวัวจากวิชิต้ามาถึงเมืองนี้ โดยใช้เงินจ้างคนไปโฆษณาและแจกใบปลิวชักชวนเจ้าของคอกปศุสัตว์ทั่วเท็กซัส ให้นำวัวไปส่งขายให้พ่อค้าคนกลางที่อาบิลีน รวมทั้งโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ชักชวนพ่อค้าที่ต้องการซื้อวัวจากรัฐอื่นๆ ให้ไปพบผู้ขายที่จุดนัดพบนี้  (http://www.kancoll.org/khq/1936/36_1_rossel.htm)

 

                    ผลก็คือ หลังจากปี 1867  มีคอกปศุสัตว์และพ่อค้าวัวมากมาย จ้างคาวบอยให้ต้อนวัวจำนวนมหาศาลจากเท็กซัสผ่านเส้นทางชิโซล์มไปส่งขายที่อาบิลีน ในระยะ 5 ปีแรก ประมาณว่ามีวัวผ่านเส้นทางนี้ถึง 3 ล้านกว่าตัว  และมีคาวบอยรับจ้างต้อนวัววันละไม่ต่ำกว่า 5000 คน (http://www.vlib.us/old_west/trails/cthist.html)

 

                เพลง The Old Chisholm Trail เป็นเพลงคาวบอยเก่าแก่ประเภทสนุกสนาน เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของคาวบอยที่รับจ้างต้อนวัวผ่านเส้นทางชิโซล์ม  เนื้อเพลงเก่ามาก ร้องสืบต่อกันมา มีการดัดแปลงเนื้อความบางตอนตามใจชอบ  จนไม่สามารถระบุชื่อคนแต่งและเนื้อเพลงต้นฉบับจริงได้  คอร์ดกีต้าร์และเนื้อเพลงในที่นี้ ได้มาจาก http://www.roughstock.com/ ซึ่งโพสต์โดย Andrew D. Lowry" <alowry@silver.ucs.indiana.edu>  จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา  ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่สั้นและใช้ศัพท์สะแลงของพวกคาวบอยไม่มากนักจึง น่าจะเข้าใจได้ดีกว่าของคนอื่น

                    ความยากลำบากในการควบคุมวัวให้เดินตามเส้นทางที่ยาวไกลนี้ คงเป็นเรื่องที่พวกคาวบอยจำนวนไม่น้อยเข็ดขยาดกันมาก จึงถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง The Old Chisholm Trail ดังแสดงไว้หน้าต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


                        "The old Chisholm Trail"
Lope the song along-
        F
1.Well, come along, boys, and listen to my tale;

  I’ll tell you of my troubles on the old Chisholm Trail. 

        ล้อมวงเข้ามาเถิดท่านทั้งหลาย มาฟังนิทานของผม

        จะเล่าความลำบากที่พบบนเส้นทางชิโซล์มอันเก่าแก่ให้ท่านฟัง
CHORUS-
       Bb6     Bb6/C         F
 Come a ti yi   yippy, yippy yay, yippy yay,

  คัม อะ ไท ไย ยิบปี้ ยิปปีเย ยิปปี้เย้
       Bb6     Bb6/C         F       Bb      F

  Come a ti yi   yippy, yippy  yay.

  คัมอะไทไยยิบปี้  ยิปปี้เย
2.With a ten-dollar horse and a forty-dollar saddle,

     ด้วยม้าราคา 10 ดอลลาร์ และอานม้าราคาสี่สิบ

  I was ridin', and a punchin' Texas cattle.

      ผมขี่ม้าต้อนวัวจากเท็กซัส

(chorus)
3. I'm up in the morning before daylight;

            ผมตื่นก่อนตะวันในตอนเช้า
   Before I sleep the moon shines bright.

           ก่อนเข้านอนแสงจันทร์ก็สว่างจ้า
4. Oh, it's bacon and beans most every day;

           อาหารมีแต่เบคอนกับถั่วทุกวัน
   We'll soon be eating this prairie hay.

                ไม่นานผมคงต้องกินหญ้าแห้งในทุ่งแห่งนี้
5. With my seat in the saddle and my hand on the horn,

ด้วยที่นั่งบนอานม้า และมือจับอยู่ที่เขาวัว
   I'm the best cowpuncher that ever was born.
ผมคือคาวบอยต้อนวัวที่เก่งที่สุดที่เคยเกิดมา

6. No chaps, no slicker,    and it's pourin' down rain;
   I swear I'll never night-herd again.

ไม่มีแชป(กางเกงหนังหุ้มขา)ไม่มีเสื้อคลุมกันฝน และฝนตกยังกะฟ้ารั่ว

ผมสาบานว่าจะไม่อยู่ยามเฝ้าวัวตอนกลางคืนอีกแล้ว
7. A stray in the herd   and the boss said, "Kill it!"

มีวัวดื้อแตกฝูงอยู่ตัวหนึ่ง และเจ้านายบอกว่า ฆ่ามัน
   So I shot it in the rump with the handle of a skillet

ผมจึงฟาดมันเข้าที่สะโพกด้วยด้ามกะทะ
8. I went to the boss to draw my roll,

เมื่อผมไปรับเเงินค่าจ้างจากเจ้านาย
   And he had me figured out nine dollars in the hole.

เขาให้ผมต้องจ่าย 9 ดอลลาร์ค่าที่ทำให้หนังเจ้าวัวตัวนั้นเป็นรู
9. Me and my boss we had a little spat,

ผมกับเจ้านายเลยทะเลาะกันนิดหน่อย
   So I hit him in the face with my ten-gallon hat.
ผมจึงใช้หมวกฟาดหน้าเข้าให้
10. I'm going to sell my horse, going to sell my saddle,
    'Cause I'm tired of punching these Longhorn cattle.

ผมจะขายม้าและขายอาน เพราะเบื่อที่จะต้อนวัวเขายาวพวกนี้
11. With my knees in the saddle and seat in the sky,
    I'll quit punchin' cows in the sweet by-and-by.

ด้วยเข่าอยู่ในอานม้า และที่นั่งอยู่บนฟ้า ผมจะเลิกต้อนวัวได้ก็เมื่อขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ (sweet by-and-by เป็นสำนวนหมายถึงสวรรค์ )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทที่ 3. ตำนานดาราคาวบอย

            ในบทนี้จะกล่าวถึงดาราคาวบอย ผู้เป็นตำนานและมีส่วนในการเสริมสร้างค่านิยมวัฒนธรรมตะวันตกให้คงอยู่ ยิ่งกว่าคาวบอยตัวจริงตามทุ่งกว้างดังกล่าวแล้ว

 

3.1.  บัฟฟาโล บิลล์  ดาราคาวบอยคนแรก

                บัฟฟาโล บิลล์ เป็นนักสู้ชีวิตตัวฉกาจ เริ่มต้นจากการเป็นนักล่าสัตว์ด้วยการวางกับดัก นักล่าแร่ทองคำในยุคปี  1859 ต่อมาก็รับจ้างขี่ม้าส่งจดหมายด่วนให้บริษัทโพนี่เอกซ์เพรส เป็นหัวหน้าขบวนอพยพด้วยเกวียน เป็นคนขับรถม้าโดยสาร และเป็นทหารในสงครามกลางเมือง  ในปี 1867 เขาเป็นนักล่าควายป่า เพื่อนำเนื้อไปขายให้คนงานสร้างทางรถไฟสายแคนซัส-ปาซิฟิก มีรายงานว่า เฉพาะตัวเขาเอง เขาฆ่าควายป่าไปถึง 4,280 ตัวภายใน 17 เดือน และนี่คือที่มาของฉายา บัฟฟาโล บิลล์ (ควายบิลล์)

จากประสบการณ์อันมากมายนี้ ระหว่างปี 1868 -1872 เขาจึงได้รับการว่าจ้างให้เป็นคนนำทาง ให้แก่หน่วยลาดตระเวนของกองทัพบกสหรัฐ สังกัดกองทหารม้าที่ 3 ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่แถบรัฐ แคนซัส  มิสซูรี เทนเนสซี ต่อสู้กับอินเดียนแดงเผ่าคิโอวา และโคมานเช่ พวกทหารยกย่องให้เขาเป็น ตัวนำโชค เนื่องจาก เขาสามารถพากองทหารหลีกเลี่ยงอันตรายได้เสมอ และนำการรบไปสู่ชัยชนะทุกครั้งเมื่อปะทะกัน ในปี 1872 เขาได้รับเหรียญเกียรติยศขั้นสูงสำหรับทหารจากรัฐบาล

                เมื่อสงครามสิ้นสุด และพวกอินเดียนแดงส่วนใหญ่ยอมแพ้ เข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน  บัฟฟาโล บิลล์ ก็หมดงานลาดตระเวน เขาจึงหันมาเอาดีทางการแสดงอย่างจริงจัง  และกลายเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิให้แก่พวกอินเดียนแดงและสิทธิ สตรี

 

 

               

บัฟฟาโล บิลล์ คือฮีโร่ตัวจริง และเป็นอัจฉริยะทางธุรกิจการแสดงอย่างแท้จริงอีกด้วย เขามีชื่อมาจากการช่วยทหารต่อสู้กับอินเดียนแดง และมีเรื่องเล่าว่าเคยต่อสู้กับหัวหน้าอินเดียนแดงเผ่าไชแอน ชื่อ เยลโลแฮร์ (Yellow Hair) ตัวต่อตัวได้ชัยชนะและถลกหนังหัวหัวหน้าผู้นั้นได้   เขาเป็นพลเรือนคนแรก ที่ได้รับการประดับเหรียญเกียรติยศของทหาร

ตอนสงครามสงบ เขาได้หันมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้แก่พวกอินเดียนแดงโดยเฉพาะผู้หญิง เมื่อเขาทำธุรกิจการแสดง เพื่อเรียกความนิยมในระยะหลังๆ เขาก็นำคาวบอย และอินเดียนแดงที่มีประวัติชื่อเสียงหลายคน มาร่วมแสดงด้วย เช่น หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ซิตติ้ง บูล (Sitting Bull) ซึ่งเป็นหนัวหน้ากลุ่มที่สังหารนายพล คัสเตอร์ นอกจากนี้เขายังแสวงหาดาราเด่นอีกหลายคน เช่น แอนนี โอ๊กเลย์(Annie Oakley) สาวน้อยผู้ยิ่งปืนแม่นอย่างน่าอัศจรรย์ ราชาคาวบอยคนแรก(King of the Cowboys)ชื่อ บั๊ก เทเลอร์(Buck Taylor) และสร้างกลุ่มนักแสดงนานาชาติขึ้นมา ประกอบด้วยพวกเผ่าคอซแซกจากรัสเซียซึ่งเชี่ยวชาญการขี่ม้าอย่างมาก นักพุ่งแหลน และพวกทหารม้าเก่า ให้มาแสดงร่วมกับพวกวาเคโร (vaqueros-คาวบอยแบบสเปน จะกล่าวถึงในตอนหลัง) คาวบอยและอินเดียนแดงจากถิ่นตะวันตกของอเมริกา (ข้อมูลจาก http://www.thewildwest.org/interface/index.php?action=304)

 การแสดงของเขาจึงได้รับความสนใจมาก ผู้คนหลั่งไหลไปดูการแสดงของเขาจากทุกทิศ ทั้งที่เวทีกลางทุ่งหญ้า และเมื่อเขาพาคาราวานออกทัวร์แสดงทั่วประเทศ แม้แต่ประธานาธิบดีในตำแหน่ง ก็เคยมาชมการแสดงของเขา

 

Image:Buffalo Bill's Wild West Show.jpg

ใบปลิวโฆษณาการแสดงของบัฟฟาโล บิลล์ ไวล์ดเวสต์  จาก www.wikipedia.com

 

                แม้จะกลายเป็นนักธุรกิจผู้ร่ำรวยโด่งดัง แต่บัฟฟาโล บิลล์ ก็ไม่เคยร้างราการกลับไปเยือนวัฒนธรรมตะวันตก เช่น พาพวกเศรษฐีไปล่าสัตว์ในบางฤดุกาล  ถูกเรียกตัวเข้าประจำการเพื่อช่วยทหารแก้ปัญหาทางชายแดนกับพวก อินเดียนแดง เช่นในปี 1876 หลังจากนายพลคัสเตอร์ถูกฆ่าที่ลิตเติ้ลบิกฮอร์น(Little Bighorn) เขาถูกเรียกเข้าไปประจำการและเป็นที่มาของการต่อสู้กับหัวหน้าเผ่าไชแอนชื่อ เยลโล่แฮร์ ดังกล่าวแล้ว

                สงครามกับพวกอินเดียนแดงไม่ได้สงบลงง่ายๆ ในปี 1890 ชื่อเสียงเกียรติศักดิ์ในชีวิตจริงของ บัฟฟาโล บิลล์ ก็ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีปัญหาการลุกฮือของพวกอินเดียนแดง เนื่องจากหมอผีคนหนึ่งปลุกความเชื่อเรื่อง “Ghost Dance(แปลตามสำนวนไทยๆ น่าจะเรียกว่า ฟ้อนผี ตามความเชื่อของชาวเหนือและอิสาน)หรือบางทีพวกคนขาวก็เรียกเพี้ยนไปเป็น Sun Dance (เต้นรำพระอาทิตย์)ซึ่งเชื่อว่าพลังจากการเต้นและการใส่เสื้อผ้าชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นมาจะป้องกันกระสุนได้ การเต้นรำเช่นนี้ระบาดไปตามค่ายกักกันพวกอินเดียนแดงทุกแห่ง พวกอินเดียนแดงฮึกเหิมทำท่าจะแข็งข้อ จนพวกทหารประสาทเสีย และเกิดการสังหารหมู่ขึ้นในหุบเขาที่เรียกว่า วูนเดดนี (Wounded Knee แปลว่า เข่าที่บาดเจ็บ) เหตุการณ์ครั้งนี้ บัฟฟาโล บิลล์ ได้ถูกทางการเรียกเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเขาได้นำกองกำลังอินเดียนแดงที่เคยช่วยสร้างสันติภาพมาก่อน เข้าไปไกล่เกลี่ย และเดินทางไปยังวูนเดดนี เพื่อช่วยฟื้นฟูความสงบให้คืนมา

นี่คือประวัติย่อ ของยอดคาวบอยผู้มีความสามารถและชื่อเสียงที่ทุกคนยอมรับ ทั้งในชีวิตจริงและการแสดง การแสดงไวล์ดเวสต์โชว์ของบัฟฟาโล บิลล์ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถึง 30 ปี  ผู้คนทุกระดับต่างหลั่งไหลไปชมกันจากทั่วประเทศ  และช่วงหนึ่ง เขาต้องเดินทางไปแสดงในยุโรป และอยู่ขุดทองจากการแสดงอย่างต่อเนื่องที่นั่นถึง 10 ปี ในยุคนั้น เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก 

น่าเสียดายที่ หนังเรื่อง Buffalo Bill and The Indian ที่ผู้อำนวยการสร้างหนังหัวไม่ถึงรสนิยมคาวบอยอินเดียนชื่อ Robert Altman สร้างให้กลายเป็นหนังตลก ที่บดบังความกล้าหาญโดดเด่นของเขาอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งผมเห็นว่า เป็นการทำลายภาพพจน์ในด้านดีของยอดวีรบุรุษตัวจริงคนนี้อย่างไม่น่าให้อภัย

 

ยีน ออทรี(Gene Autry) ดาราคาวบอยผู้เขียนบทบัญญัติคาวบอย

ดาราคาวบอยที่โด่งดังยุคหลังบัฟฟาโล บิลล์ และมีอิทธิพลต่อค่านิยมคาวบอยมากสุด ได้แก่ ยีน ออทรี (Gene Autry) และ รอย โรเจอร์ส( Roy Rogers) ซึ่งเป็นทั้งนักร้อง และนักแสดง ยีน เป็นนักแสดงเดี่ยว มีกิจการแสดงของตนเองและโด่งดังมาก่อนรอย รอย เป็นนักร้องลูกทุ่งสไตล์โห่(Yodel) ที่บริษัทสร้างหนังนำมาแทนยีนในยุคหลังที่ยีนเริ่มเป็นผู้สร้างหนังของตนเอง  ซึ่งกลายเป็นรูปแบบที่ รอย ตอนหลังก็เจริญรอยตามเช่นกัน  ประวัติย่อๆ ของทั้งสองคน มีดังนี้

 

ยีน ออทรี (Gene Autry) คาวบอยวีรบุรุษ[1]

                ยีน ออทรี คือนักร้องคาวบอย (Singing Cowboy) คนแรกของโลก เขาเกิดในปี ค.ศ. 1907 ที่เมืองไทโอกา(Tioga) รัฐเท็กซัส เดิมมีอาชีพเป็นพนักงานส่งโทรเลข เริ่มมีชื่อจากการร้องเพลงโห่ลูกทุ่งมาตั้งแต่ปี 1929(พ.ศ.2472) โดยได้ฉายาว่า คาวบอยโห่แห่งโอกลาโอมา(Oklahoma’s Yodeling Cowboy)” และเริ่มแสดงหนังคาวบอยในปี 1934 จนถึงปี 1953 รวม 93 เรื่อง ร้องเพลงบันทึกเสียงไว้ประมาณ 640 เพลง ในจำนวนนี้เขาแต่งเองและร่วมแต่ง รวม 300 เพลง

                ช่วงปี ๑๙๔๐-๑๙๕๖ ยีน ออทรี โด่งดังมากจากรายการทางวิทยุของสถานี CBS ที่ชื่อ เมโลดี้แรนซ์โชว์(Melody Ranch Show) ซึ่งประกอบด้วยรายการเพลง และละครวิทยุเกี่ยวกับเรื่องราวยุคคาวบอย ในปี ๑๙๔๐ เขาร่วมปรากฎตัวขี่ม้าคู่ใจชื่อ แชมเปี้ยนกระโดดลอดห่วงไฟในงานโรดิโอที่ยิ่งใหญ่ชื่อ Flying "A" Ranch Rodeo ในนิวยอร์ค และได้รับการต้อนรับอย่างท่วมท้น  ต่อมาเขาจึงลงทุนซื้อที่ดิน จัดการแสดง Flying “A” Ranch Rodeo Show ของตัวเอง และผูกพันกับงานโรดิโออย่างยาวนาน ถึงขั้นตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่องานนี้ ที่โคโลราโดและอาริโซนา

                ออทรีซื้อโมโนแกรมสติวดิโอ(Monogram Studio)ในปี ๑๙๕๒  และตั้งชื่อใหม่ว่า เมโลดีแรนซ์ (Melody Ranch) ใช้เป็นสถานที่ผลิตหนัง รายการทางวิทยุและทีวีสำหรับออกอากาศในช่วงเสาร์อาทิตย์ทุกสัปดาห์ มีหนังประเภท B-Western ประมาณ ๗๕๐ เรื่องที่ถ่ายทำที่นี่ก่อนตกเป็นของยีน หลังจากเป็นของยีนแล้ว หนังคาวบอยดังๆ ที่แสดงโดยดาราคาวบอยผู้เป็นตำนานแห่งยุค เช่น จอห์น เวย์น, แกรี่ คูเปอร์, รอย โรเจอร์ส, วิลเลียม เอส อาร์ท, ทอม มิกซ์ ก็ได้เช่าใช้สถานที่แห่งนี้จนถึงปี ๑๙๖๒ จึงเกิดไฟไหม้เสียหายเกือบหมด ยีนได้ใช้ส่วนที่เหลือเป็นที่เลี้ยง แชมเปี้ยน ม้าคู่ใจจนมันสิ้นชีวิตในปี ๑๙๙๐  จากนั้นเขาจึงขายต่อให้แก่พี่น้องตระกูลเวลูแซต(Veluzat) ซึ่งซื้อไปบูรณะเป็นเมืองคาวบอยให้เช่าถ่ายหนังพร้อมอุปกรณ์ครบทุกอย่างในทุกวันนี้ [2]

                จากการแสดงทั้งทางวิทยุ ทีวี และหนังฉายโรงประเภท B-western เขากลายเป็นดาราขวัญใจยอดนิยมของคนอเมริกัน ตั้งแต่พวกเด็กๆ ผู้ใหญ่ จนถึงคนแก่ที่เคยมีชีวิตในยุคตะวันตกรุ่งเรืองมาก่อน

                ไม่ใช่แค่เป็นวีรบุรุษบนจอแก้วเท่านั้น ยีน ออทรี ยังเป็นวีรบุรุษจากสงครามโลกอีกด้วย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี ๑๙๔๒-๔๖ (ช่วงนี้เองที่ทางผู้ผลิตภาพยนตร์และรายการวิทยุนำ รอย โรเจอร์ส มาแสดงแทนเขาเต็มตัว) เขาสมัครเป็นทหารอากาศ และได้เป็นนักบินขับเครื่องบิน C-47 Skytrain ขนกระสุนและระเบิด ผ่านน่านฟ้า จีน-อินเดีย-พม่า โดยบินผ่านช่องเขาหิมาลัยระหว่างพม่ากับจีนที่อันตรายที่สุดที่เรียกว่า Hump  

                ช่วงปลายสงครามเขาเข้าปฏิบัติการในหน่วยพิเศษแถวมหาสมุทรแปซิฟิก และปลดประจำการกลับเข้าสู่อาชีพนักแสดงในปี ๑๙๔๖  เขาได้รับเหรียญเกียรติยศ ๓ เหรียญจากภารกิจในสงครามคือ American Campaign Medal, Asiatic-Pacific Campaign Medal, และ World War II Victory Medal.

                ยีน ออทรีมีสัมผัสทางธุรกิจดีมาก สามารถเป็นเจ้าของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัลถึงสองแห่งคือ KMPC และ KTLA เป็นเจ้าของทีมเบสบอลล์ American League California Angels ในปี 1961ซึ่งเป็นทีมที่มีชื่อเสียงมาก คนอเมริกันยุคหลังรู้จักเขาจากทีมเบสบอลล์มากกว่านักแสดงคาวบอยเสียอีก เขาอยู่ในตำแหน่งรองประธานสมาคมอเมริกันเบสบอลล์จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต   ในปี ๑๙๘๑ เขาขายสถานีโทรทัศน์ KTLA เป็นเงินถึง ๒๔๕ ล้านดอลลาร์ ในปี ๑๙๙๕ เขาติดอันดับ ๔๐๐ อเมริกันที่รวยที่สุด ของแมกกาซีนฟอร์เบส มีทรัพย์สินรวม ๒๑๐ ล้านดอลลาร์

                ในปี ๑๙๘๘ ยีน ออทรี สร้างพิพิธภัณฑ์มรดกตะวันตกของ ยีน ออทรี (Gene Autry Western Heritage Museum) และกลายเป็น ศูนย์แห่งชาติออทรี (Autry National Center) ที่ให้การศึกษาด้านวัฒนธรรมตะวันตกในปัจจุบัน

                เพลงที่โด่งดังมากที่ยีนสร้างชื่อเสียงขึ้นมา และยังมีการนำมาร้องทุกวันนี้ได้แก่  Ghost Riders in The Sky ซึ่งเขาสร้างเป็นหนังด้วย และอีกเพลงคือ Back  In The Saddle Again ยีน เป็นดาราคนเดียวในโลก ที่ได้รับเกียรติสูงสุด ๕ ดาวใน ๕ สาขาการแสดงที่ได้รับการประทับดาวไว้บนถนนฮอลลีวูด (Hollywood Walk of Fame) คือ สาขาวิทยุ  การอัดแผ่นเสียง ภาพยนตร์ ทีวี และ การแสดงสดบนเวที ซึ่งมีที่อยู่ของดาวตามตารางที่แสดงไว้นี้

ชื่อ

สาขา

ที่อยู่ของดาว

Gene Autry

 

Motion pictures

6644 Hollywood Blvd.

Radio

6520 Hollywood Blvd.

Recording

6384 Hollywood Blvd.

Television

6667 Hollywood Blvd.

Live theatre

7000 Hollywood Blvd.

ภาพดาวจาก http://www.710kmpc.com/

 

ภาพดาวบนทางเท้าของถนน Hollywood Boulevard และ Vine Street ที่ดารามีระดับเท่านั้นจึงจะได้รับเกียรติสร้างดาวของเขาประดับไว้ให้คนย่ำไปมา ภาพจาก http://en.wikipedia.org/

 

               

                ยีน ออทรี คือผู้บัญญัติกฎปฏิบัติสำหรับผู้อยากเป็นคาวบอย 10 ข้อขึ้นมาเป็นคนแรก  และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ บทบัญญัติคาวบอย  “Cowboy Code” หรือ “Cowboy Commandments” ซึ่งได้กล่าวไว้ในบทที่ 1 

 

รอย โรเจอร์ส ราชาคาวบอย (Roy Rogers, King of the Cowboys)

                รอย โรเจอร์ส[3],[4] ไม่ได้เป็นคนมีชีวิตในฟาร์มมาแต่เด็กเหมือน ยีน ออทรี เขาเกิดวันที่ ๕  พฤศจิกายน. ค.ศ.๑๙๑๑ ในเมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ(Cincinnati, Ohio) ในชื่อ ลีโอนาร์ด แฟรงกลิ้น สไล (Leonard Franklin Slye)  พ่อมีสายเลือดอินเดียนแดงเผ่าเชโรกีร้อยเปอร์เซ็นต์ ครอบครัวยากจน เขาต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อทำงานทุกชนิดที่พอเลี้ยงชีพได้ ตั้งแต่เป็นคนเก็บผลไม้ในไร่ กรรมกรในโรงงาน เริ่มชีวิตการแสดงโดยการเป็นนักร้องเพลงโห่ลูกทุ่งเช่นกัน และตั้งวงดนตรีของตนเองตั้งแต่อายุ 18 ร่วมกับลูกพี่ลูกน้องชื่อ สแตนเลย์ โดยรับจ้างร้องเพลงตามงานเต้นรำและโรงละครท้องถิ่น แต่ไปได้ไม่ดีนัก  ระยะหลังรอยจึงดิ้นรนเข้าไปแสวงโชคในรัฐคาลิฟอร์เนีย

 

                จนถึงปี 1934 รอยจึงเริ่มมีชื่อเสียง โดยร่วมกับนักร้องคาวบอยที่มาดังร่วมกันตอนหลังอีกสองคน คือ บ๊อบ โนแลน และ ทิม สเปนเซอร์ ตั้งวงคาวบอยครั้งแรกชื่อ O-Bar-O Cowboys ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไพโอเนียส์ เมื่อได้รับโอกาสแสดงทางวิทยุครั้งแรก ผู้ประกาศไม่เคยได้ยินชื่อวง จำผิดจาก ไพโอเนียส์ ประกาศเป็น Sons of the Pioneers เพราะเห็นเป็นพวกเด็กๆ  แต่ปรากฏว่า การแสดงครั้งนั้น รอย ได้เตรียมเพลงและซ้อมวงมาอย่างดี จึงทำให้ผู้ฟังชื่นชอบกันมาก และทำให้ได้เกิดในวงการเพลงในชื่อที่ประกาศตั้งแต่วันนั้น เพลงที่สร้างชื่อให้แก่วงของเขามากในยุคนั้น คือเพลง “Cool Water” และ “Tumble Tubleweeds” ซึ่งทุกวันนี้ถือว่าเป็นจำนวนหนึ่งในเพลงคาวบอยอมตะแห่งยุค

 

                รอย โรเจอร์ เริ่มแสดงหนังกับบริษัท รีพับบลิค สติวดิโอ(Republic Studio) ครั้งแรก ในปี 1935 แต่ยังไม่มีชื่อเสียงนัก เนื่องจากยุคนั้น ยีน ออทรี คือดาราใหญ่ที่ดังมาก่อนในประเภทซิงกิ้งคาวบอย  ต่อมาบริษัทเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาแสดงหนังกับ ยีน ออทรี จึงซุ่มสร้าง รอย ขึ้นมาโดยหวังจะให้เป็นผู้มาแทน ยีน จนในปี ๑๙๓๘ เขาจึงได้แสดงหนังแทน ยีน ออทรี เต็มตัวในเรื่อง Under Western Stars ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างล้นหลาม ชื่อเสียงของเขาจึงดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี  ๑๙๔๒ เมื่อ ยีน ออทรี สมัครเข้าเป็นทหารออกรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒  รอยจึงผงาดเป็นดาราอันดับหนึ่งของประเทศได้ และได้รับฉายาว่า ราชาแห่งคาวบอย(King of the Cowboys)” ตามชื่อหนังของเขาเรื่องหนึ่ง

                ในปี ๑๙๔๔ รอยเริ่มแสดงหนังกับดาราสาวสไตล์ตะวันตกผู้โด่งดังคนหนึ่ง ชื่อ เดล อีวาน(Dale Evan) ในเรื่อง The Yellow Rose of Texas ซึ่งกลายเป็นคู่ขวัญบนจอเงินต่อมาจนตลอดชีวิตการแสดงของเขา เดล อีวาน ได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งคาวเกิร์ล (Queen of the Cowgirls)”

                 ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ภรรยาของรอยเสียชีวิต จากการคลอดลูกชายคนเดียวของเขา อีก ๑ ปีต่อมา รอยก็แต่งงานกับ เดล อีวาน (เป็นการแต่งงานครั้งที่ 4 ของเธอ) และอยู่ร่วมกันจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ทั้งสองมักแสดงหนังคู่กันเสมอ และได้รับความนิยมสูงมากจนเกินหน้า ยีน ออทรี ทั้งเรื่องเพลงและการแสดง    สองสามีภรรยาเป็นเจ้าของรายการทีวีของตนเองชื่อ รอย โรเจอร์ส โชว์ ซึ่งออกอากาศทางสถานี CBS จากปี ๑๙๕๑ จนถึง ๑๙๖๔  และเป็นรายการที่ เดล อีวาน แต่งเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่งคือ Happy Trails เพื่อใช้เป็นเพลงอำลาตอนจบของรายการทีวีแต่ละตอน

                ดูเหมือนเป็นสูตรสำเร็จของดาราดังสไตล์ตะวันตกในยุคนั้น ที่แต่ละคนจะต้องมีดาราแสดงคู่หูที่เรียกว่า sidekick ซึ่งจะคอยเป็นตัวตลกงี่เง่า เพื่อเสริมบุคลิกของตัวเอกให้เด่นขึ้น  รอยมี sidekick สองคนชื่อ Pat Brady และ Gabby Hayes นอกจากนี้ ยังมีม้าแสนรู้ของเขาที่ชื่อ ทริกเกอร์(Trigger) และสุนัขแสนรู้ชื่อ บุลเลตต์(Bullet) ช่วยเสริมอีกทางหนึ่ง

 

                เพลงคาวบอยที่มีชื่อเสียงของรอย ได้แก่ Happy Trails ดังกล่าวแล้ว และเพลงที่เขาร่วมร้องในวง Sons of The Pioneers ชื่อ Tumbling Tumbleweeds, Cool Water สำหรับผู้เขียน ชอบเพลง Cowboy Night Herd Song มากที่สุด  ในปี ๑๙๖๕ สองสามีภรรยาได้ตั้งพิพิธภัณฑ์ Roy Rogers and Dale Evans Museum ข้นในวิเตอร์วิลเล คาลิฟอร์เนีย ซึ่งปัจจุบันถูกย้ายไปอยู่มิสซูรี ทั้งสองคนได้ชื่อว่ามีความเมตตาสูง ได้รับเด็กยากจนเป็นลูกบุญธรรมถึง ๔ คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กเกาหลี แต่ชีวิตครอบครัวก็มีเรื่องเศร้า เมื่อลูกที่เกิดจากเดล คนหนึ่งเสียฃีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่ออายุได้แค่ 2 ขวบ เด็กที่รับมาเลี้ยงสองคนเสียชีวิตเมื่อโตเป็นหนุ่มสาวจากอุบัติเหตุรถเมล์คนหนึ่ง อีกคนหัวใจวายตายขณะรับราชการทหารในยุโรป

                รอยได้รับเกียรติบน Hollywood Walk of Fame เพียง 4 ดาวคือ สาขา วิทยุ เพลง ภาพยนตร์ และทีวี

 

 

 



[1] http://www.geneautry.com/, http://en.wikipedia.org/wiki/Gene_Autry/, http://www.nashvillesongwritersfoundation.com/fame/autry.html

[2] http://www.melodyranchstudio.com/

[3] http://www.biography.com/search/article.do?id=9542070&page=2

[4] http://www.royrogers.com/, http://en.wikipedia.org/wiki/Roy_Rogers